วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สะเดา(MAGOSA)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis Val.

ชื่อวงศ์ : Meliaceae

ชื่อสามัญ : SIAMESE NEEM TREE

ลักษณะทั่วไป : สะเดา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ขึ้นได้ในป่า หรือปลูกไว้ตามบ้าน เปลือกของต้นมีสีน้ำตาลเทาหรือเทาปนดำ แตกระแหงเป็นร่องเล็กๆ ใบเป็นช่อแบบขนนก ใบย่อยรูปใบหอก ขอบใบหยักใบออกเรียงกัน ตรงปลายกิ่งสะเดา จะผลิใบใหม่ พร้อมผลิดอกออกเป็นช่อสีขาว ทุกส่วนของสะเดามีรสขม นำยอดอ่อนและดอกสะเดาลวกน้ำร้อน 2 ครั้ง เพื่อให้หายขม รับประทานเป็นอาหารประจำครอบครัวในช่วงฤดูหนาว เพราะดอกสะเดาจะออกช่อในฤดูหนาว ปัจจุบันเราสามารถรับประทานสะเดาได้ตลอดทั้งปี โดยใช้ยอดอ่อนรับประทานแทนดอกรสชาติอร่อยพอกัน สะเดามี 2 ชนิด คือ ชนิดขม และชนิดมัน โดยจะสังเกตได้จากยอดอ่อน สะเดาชนิดขมจะมียอดอ่อนสีแดง ส่วนสะเดาชนิดมันจะมียอดอ่อนสีขาว

สรรพคุณทางยา : ทุกส่วนของสะเดาสามารถนำมาทำเป็นยาได้
1. ยอดและดอกสะเดา สามารถช่วยเจริญอาหารได้ เพราะใบสะเดามีสารที่มีรสขม คือ NIMBIDIN ช่วยกระตุ้นทำให้น้ำย่อยออก จึงทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น
2. ใบสะเดานำมาตำทำเป็นยาพอกฝี
3. ดอกใช้แก้พิษเลือดกำเดา
4. ผลใช้บำบัดอาการโรคหัวใจเต้นผิดปกติ
5. ราก ช่วยแก้เสมหะ เปลือกรากรักษาไข้ตัวร้อน นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชได้อีกด้วย

บอระเพ็ด


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f. & Thoms.
Tinospora rumphii Boerl.
Tinospora tuberculata Beaumee

วงศ์ : Menispermaceae

ชื่อท้องถิ่น : จุ่งจริงตัวแม่, เจ็ดมูลย่าน, เจ็ตมูลหนาม, จุ่งจิง, เครือเขาฮ่อ , ตัวเจ็ตมุลย่าน, เถาหัวด้วน ,เจ็ตหมุนปลูก

ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์ :
1. ลำต้นเป็นพันธุ์ไม้เถาเลื้อย เถากลมโตขนาดนิ้วมือ ประมาณ 1-1.5 ซม เถาอ่อนผิวเรียบสีเขียว เถาแก่สีน้ำตาลอมเขียว ผิวขรุขระ เป็นปุ่มๆ ยางมีรสขมจัด ขึ้นเกาะต้นไม้อื่น มักจะมีรากอากาศคล้ายเชือกเส้นเล็กๆ ห้อยลงมาเป็นสาย
2. ใบเป็นใบเดี่ยว รูปใบพลูหรือรูปหัวใจ โคนใบหยักเว้า มีเส้นใบ 5-7 เส้นที่เกิดจากจุดโคนใบ
3. ดอก ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งแก่ตรงบริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็กสีเหลืองอมเขียว,

แดงอมชมพู, เขียวอ่อน, เหลืองอ่อน ช่อดอก ยาว 5-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบดอก กลีบเลี้ยงอย่างละ 6 กลีบ
4. ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ กลมรี สีเหลืองถึงแดง ขนาด 2-3 ซม. มีเนื้อเยื่อบางๆหุ้มเมล็ด

สรรพคุณทางยา : มีการใช้บอระเพ็ดเป็นยาสมุนไพร สรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงกำลัง บำรุงไฟธาตุ ช่วยเจริญอาหาร รักษาโรคฝีดาษ โรคไข้เหนือ โรคไข้พิษทุกชนิด ใบ รักษาพยาธิในท้อง รักษาฟัน ตำให้ละเอียดพอกฝี แก้ฟกช้ำ ปวดแสบปวดร้อน ผล เป็นยารักษาโรคไข้พิษอย่างแรงและเสมหะเป็นพิษ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ โรคโลหิตพิการ

โหระพา(SWEET- BASIL)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum basilicum Linn.

วงศ์ : LABIATAE

ชื่ออื่นๆ : อิ่มคิมขาว (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์ : เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม กิ่งอ่อนสีม่วงแดง

- ใบ ใบเดี่ยว รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-6 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน ขอบจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ

- ดอกสีขาวหรืดชมพูอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ยาว 7-12 เซนติเมตร ใบประดับสีเขียวอมม่วงจะคงอยู่เมื่อเป็นผล กลีบดอกโคยเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 2 ส่วน เกสรตัวผู้ 4 อัน

- ผล ขนาดเล็ก

สรรพคุณทางยา : ใบสด มีน้ำมันหอมระเหย เช่น methyl chavicol และ linalool ฯลฯ ขับลมแก้ท้องอืดเฟ้อ ใช้เป็นอาหาร แต่งกลิ่นอาหาร แต่งกลิ่นสำอางบางชนิด เมล็ดเมื่อแช่น้ำจะพองเป็นเมือก เป็นยาระบาย เนื่องจากไปเพิ่มจำนวนกากอาหาร (bulk laxative)

มะกรูด (KAFFIR LIME)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.

ชื่อสามัญ : Porcupine Orange, Kaffir Lime, Leech Lime

ชื่อท้องถิ่น : มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ) มะหูด (หนองคาย) ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้) โกรยเซียด (เขมร)

มะขู (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)

ส่วนที่ใช้ : ผล ผิวของผล น้ำของผล ใบ และราก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : มะกรูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูง 2 – 8 เมตร ประกอบไปด้วย
1. ใบ มีใบย่อยเพียงใบเดียว ใบค่อนข้างหนา มีสีเขียวแก่ มีกลิ่นหอม

2.ดอกมีสีขาว ออกเดี่ยวๆ อยู่เป็นกระจุก 3-5 ดอก กลีบดอกร่วงง่าย

3. ผล เป็นผลเดี่ยวค่อนข้างกลม บางพันธุ์มีผิวขรุขระ มีจุกที่หัวผล
คุณสมบัติ :
1. ใช้เป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่าง ๆ คือ น้ำในผลแก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร น้ำมะกรูดใช้ดองยา เพื่อใช้ฟอกเลือด และบำรุงโลหิตสตรี เนื้อของผลใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ใบมะกรูดใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ผลมะกรูดที่คว้านไส้ออกนำมหาหิงส์ใส่แทนใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้องในเด็กอ่อน

2. ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ

3. กรด Citric ช่วยขจัดคราบสบู่ (ด่าง) ที่หลงเหลืออยู่ ทำให้ผมหวีง่าย น้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม
4. ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ในดับกลิ่นคาวของอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงต่าง ๆ

สรรพคุณทางยา : ขับลมแก้จุกเสียด

วิธีใช้ :
1.ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางออก เอามหาหิงส์ใส่แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียม บดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งรับประทาน จะช่วยขับลม แก้ปวดท้องหรือป้ายลิ้นเด็กอ่อน เป็นยาขับขี้เทาได้
2.น้ำมะกรูดใช้ถูกฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน
3.เอาผลมะกรูดมาดอง เป็นยาดองเปรี้ยวรับประทานขับลมขับระดู
4.เปลือกผลฝานบาง ๆ ชงน้ำเดือดใส่การะบูรเล็กน้อย รับประทานแก้ลมวิงเวียน
5.เปลือกฝนใช้ผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น แชมพู สบู่

พลู (BETLE LEAF)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper betle Linn.

วงศ์ : Piperaceae

ชื่อท้องถิ่น : ใบพลู(ภาคใต้) เปล้าอ้วน ซีเก๊าะ (มลายู - นราธิวาส) พลูจีน (ภาคกลาง)
พลูเป็นไม้เลื้อย มีข้อ และมีปล้องชัดเจน ใบเดี่ยวติดกับลำต้น

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบสด

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา : เก็บช่วงที่ใบสมบูรณ์เต็มที่

รสและสรรพคุณยาไทย : รสแผ็ดร้อนเป็นยาฆ่าเชื้อโรค ขับลม ใช้ใบพลูตำกับเหล้าทาบริเวณที่เกิดเป็นลมพิษหายได้ ใช้รับประทานกับหมากและปูนแดง

วิธีใช้ : ใบพลู ใช้เป็นยารักษาอาการแพ้ อักเสบแมลงสัตว์กับต่อยได้ผลดีมาก กับอาการแพ้ในลักษณะลมพิษ โดยการนำใบพลูสัก 1-2 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เกิดลมพิษห้ามใช้กับแผลเปิดจะทำให้เกิดอาการแสบมาก

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ : ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย ประกอบไปด้วยChavicol ,Chavibitol , cineol eugenoi carvacrol B-sitosterolและที่อื่นๆสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคได้ ทำให้ปลายประสาทชา แก้อาการคันได้ดีจากสารประกอบอาจจะเป็นสารพวกB-sitosterolที่ช่วยในการลดอาการอักเสบ

ว่านหางจระเข้ (ALOE VERE )


ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Aloe vera Linn.


วงศ์ : Liliaceae

ชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่น: ภาคกลางเรียก ว่านหางจระเข้ ภาคเหนือเรียก ว่านหางจระเข้ ภาคอีสานเรียก ว่านหางจระเข้,ว่านแข้,หว่านตะแข่,หว่านตะเข้ เขมรในถิ่นไทยเรียก ประเตียล,กระปือ ภาคใต้เรียก หว่านเข้

ส่วนที่นำมาใช้มี 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1. ยางจากใบ โดยการทำให้แห้งเป็นก้อน เรียกว่า ยาดำ นำมาใช้เป็นยาระบาย

ส่วนที่ 2. ส่วนที่เป็นวุ้น

สารที่มีประโยชน์: สารอะโลอิน (aloin) และสารอื่นๆ มีฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ ไทโรซิเนส (tyrosinase) ซึ่งอยู่ใต้ผิวหนัง

สรรพคุณทางยา : ส่วนที่เป็นวุ้น

1.ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ช่วยสมานห้ามเลือด ระงับปวด

2.รักษาโรคผิวหนัง,แผลเรื้อรัง,เริม,งูสวัด

3.ลบรอยแผลเป็น, แก้ผื่นคันจากการแพ้สารต่างๆ

4. แก้ขี้เรื้อนกวาง,ผื่นปวดแสบปวดร้อน,แก้พิษแมลง,แมงกะพรุน,ใบตำแย

5.รักษาโรคกระเพาะอักเสบ,ท้องผูก,บำรุงร่างกาย,ขับพิษ

ภูมิปัญญาชาวบ้าน: ไฟใหม้ น้ำร้อนลวก ใช้วุ้นทาเพื่อป้องกันรอยแผลเป็น

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

สะระแหน่(MINT)


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Metha cordifolia Opiz.

ชื่อวงศ์ : Labiatae

ชื่อสามัญ : Kitchen Mint, Marsh Mint

ชื่ออื่น : หอมด่วน หอมเดือน (ภาคเหนือ), มักเงาะ สะแน่ (ภาคใต้), สะระแหน่สวน (ภาคกลาง), ขะแยะ (อีสาน)

ลักษณะ : สะระแหน่เป็นพืชล้มลุกเลี้อยตามพื้นดิน ลำต้นสีแดงเข้ม ใบกลมขนาดหัวแม่มือ ใบค่อนข้างหนา ริมใบหยักโดยรอบ ภายในใบเป็นคลื่นยับย่น และมีกลิ่นหอม


ส่วนที่ใช้ : ใบ

สรรพคุณ : สะระแหน่นั้นมีสรรพคุณมากมาย เช่น เป็นยาดับร้อน ถอนพิษไข้ ขับลม ขับเหงื่อ รักษาอาการ หวัดได้ และยังสามารถแก้อาการ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อได้ และหากนำน้ำ ที่คั้นจากต้น และใบมาใช้ดื่ม ก็จะช่วยขับลมในกระเพาะได้ หรือใครจะกินสดๆ เพื่อดับกลิ่นปากก็ยังได้ นอกจากนี้ การบริโภคสะระแหน่ ยังช่วยให้สมองปลอดโปร่ง โล่งคอ ป้องกัน ไข้หวัด บำรุงสายตา และช่วยให้หัวใจแข็งแรง

สารสำคัญที่พบ : ใบและลำต้นมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยสารเมนทอล (Menthol) ไลโมนีน (Limonene) นีโอเมนทอล (Neomenthol) เป็นต้น

สารอาหาร : สะระแหน่นั้นมีสารอาหารหลายอย่าง เช่น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 2 วิตามินซี ปัจจุบันได้สกัดสารจากสะระแหน่ในการลูกอมสะระแหน่ไว้ใช้อม หรือที่เรียกว่า ลูกอมมินต์

กะเพรา(BASIL)


กะเพรา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum sanctum linn.


ชื่ออื่น : กระเพราแดง กระเพราขาว (ภาคกลาง) ก่ำก้อขาว ก่ำก้อดำ กอมก้อขาว กอมก้อดำ (เชียงใหม่ และภาคเหนือ) ห่อตูปลู ห่อกวอซู (กะเหรี่ยง-แม่อ่องสอน)


ลักษณะ : ลำต้นค่อนข้างแข็ง ตามลำต้นมีขน ใบ เป็นใบเดี่ยวการเกาะติดของใบบนกิ่งแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง 1-3 วม. ยาว 2.5-5 ซม.
ใบ ปลายแหลมหรือมน โคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขน
ดอก เป็นแบบช่อฉัตร ออกบริเวณปลายยอดและปลายกิ่ง ยาว 8-10 ซม. ดอกย่อยมีขนาดเล็ก รูปคล้ายระฆัง กลีบดอกมีทั้งชนิดสีขาวลายม่วงแดงและสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็น

2 ส่วน ส่วนบนแยกเป็น 4 กลีบปลายแหลมเรียว ส่วนล่างมีกลีบเดียวค่อนข้างกลม ผิวกลีบด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนตามโคนกลีบ กลีบเลี้ยงสีแดงน้ำตาลแกมม่วง และสีเขียว เนื้อกลีบแข็ง ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบปลายแหลมแบบหนาม ก้านดอกย่อยสีเขียว

ยาวประมาณ 0.20 - 0.30 ซม. ผล แห้งแล้วแตกออก เมล็ด เล็ก รูปไข่สีน้ำตาล มีจุดสีเข้มเมื่อนำไปแช่น้ำเปลือกหุ้มเมล็ดพองออกเป็นเมือก

สรรพคุณ : -ใบ บำรุงธาตุไฟธาตุ ขับลมแก้ปวดท้อง แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นเหียนอาเจียน และขับลม
-เมล็ด เมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผง หรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นละอองนั้นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วย
-ราก ใช้รากที่แห้งแล้ว ชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ